หลักการทำงานของการทำความเย็น คืออะไร?

 
         การทำความเย็น
คือ กระบวนการของการลดและรักษาอุณหภูมิของที่ว่างห้อง หรือวัตถุให้มีค่าต่ำกว่าอุณหภูมิของ สภาพแวดล้อมโดยมีหลักการของการทำความเย็น ดังนี้
 
การทำความเย็นโดยการใช้น้ำเย็น
          สมมติว่า มีน้ำ 1 กิโลกรัม อุณหภูมิ 0 องศาเซลเซียส บรรจุอยู่ในภาชนะเปิดวางอยู่ในห้องมีอุณหภูมิเริ่มแรก 25 องศาเซลเซียส  เมื่อเวลาผ่านไปความร้อนจะไหลจากบรรยากาศ 25 องศาเซลเซียส ไปยังน้ำ 0 องศาเซลเซียส  ดังนั้นอุณหภูมิของ อากาศ โดยรอบจะลดลง อย่างไรก็ตามความร้อนแต่ละ 1 กิโลแคลอรี่ ที่ถูกน้ำดูดซึมเอาไปจากอากาศจะทำให้อุณหภูมิของน้ำเพิ่มขึ้น  1 องศาเซลเซียส
          สรุปก็คือ อุณหภูมิของอากาศโดยรอบจะลดลง อุณหภูมิของน้ำจะเพิ่มขึ้นจนในที่สุดอุณหภูมิของอากาศและน้ำจะเท่ากัน และจะไม่มีการถ่ายเทความร้อนเกิดขึ้นอีกต่อไป
          ข้อเสียของ การทำความเย็นโดยการใช้น้ำเย็น คือ ไม่สามารถทำให้ห้องมีอุณหภูมิต่ำกว่าน้ำเย็น และการทำความเย็นไม่ต่อเนื่อง อีกทั้งยังไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิห้องได้  แต่ทั้งนี้การที่จะทำให้การทำความเย็นดำเนินไปอย่างต่อเนื่องน้ำควรจะเย็น และมี การหมุนเวียนตลอดเวลา ซึ่งการปรับอากาศบางชนิดได้นำหลักการนี้ไปใช้
 
การทำความเย็นโดยใช้น้ำแข็ง
          สมมติว่า ใช้น้ำแข็ง 1 กิโลกรัม อุณหภูมิ 0 องศาเซลเซียส ใส่แทนน้ำ ในกรณีนี้อุณหภูมิของน้ำแข็งจะไม่เปลี่ยนขณะที่น้ำแข็งดูดความร้อนจากอากาศ โดยรอบ น้ำแข็งเปลี่ยนสถานะจากของแข็งไปเป็นของเหลวเล็กน้อยขณะที่อุณหภูมิยังคงที่ 0 องศาเซลเซียส ความร้อนถูกดูดซึมโดยน้ำแข็งถูกดึงออกจากระบบไปพร้อมน้ำทิ้ง การทำความเย็นจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งน้ำแข็งหลอมเหลวหมด
          ข้อเสียของ การทำความเย็นโดยใช้น้ำแข็ง คือ ไม่สามารถทำให้ได้อุณหภูมิต่ำตามใจชอบได้ และต้องเติมน้ำแข็งบ่อยๆ อีกทั้งยังคุมอัตราการทำความเย็นได้ยาก และยากที่จะรักษาอุณหภูมิได้ตามต้องการด้วย
 
โปรดติดตามหลักการทำงานของการทำความเย็น ตอนที่ 2 ได้เร็วๆ นี้